การปฏิบัติตนระหว่างการปฏิบัติธรรม

 

๑.      การเคารพเชื่อฟังพระวิปัสสนาจารย์ โดย

  • วางความรู้เดิมไว้ที่บ้านและทําตนประหนึ่งว่าเป็นนักเรียนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้และพร้อมรับประสบการณ์ใหม่ ๆ
  • วางภารกิจ และตัดความกังวลในทุก ๆเรื่อง
  • ละทิ้งยศศักดิ์ ฐานะ ตําแหน่ง ไว้ที่บ้าน
  • ตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบ และไม่ทำสิ่งซึ่งเป็นการรบกวนผู้อื่น
  • ตั้งใจรักษาศีลห้า หรือศีลแปด และอยู่จนครบกําหนดตามที่ตั้งใจไว้
  • อารมณ์กรรมฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ของผู้ปฏิบัติเองเท่านั้น (บุคคลอื่น หรือการกระทําของบุคคลอื่น ไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน)
  • เมื่อมีเหตุไม่สบายใจในการปฏิบัติ ขอให้เรียนพระวิปัสสนาจารย์

๒.      ตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันออกกรรมฐาน ขอให้อยู่เฉพาะภายในอาคารปฏิบัติธรรมเท่านั้น สํารวมกิริยาอาการ สํารวมสายตา (ทอดสายตาลงต่ำ ไม่สบตาผู้อื่น) ปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่อ่านหนังสือ ไม่ควรปิดประตูเสียงดัง ปิดวาจาห้ามพูดคุย หากต้องการความช่วยเหลือให้เขียนข้อความลงในการดาษแทนการพูดคุย (ข้อแนะนําเหล่านี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเอง ที่จะช่วยลดการรับอารมณ์ที่ทําให้เกิดความฟุ้งซ่าน ทําให้สามารถกําหนดอารมณ์กรรมฐานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งอิริยาบถใหญ่ และอิริยาบถย่อย และไม่รบกวนการทําความเพียรของผู้อื่น)

๓.      ให้นั่งประจําที่ทุกๆ วัน โดยหันหน้าไปทางพระประธานหน้าห้อง แล้วเดินจงกรมตามแนวของอาสนะ ไม่ควรเปลี่ยนที่เดินจงกรมหรือที่นั่ง เพราะ เป็นการรบกวนผู้ปฏิบัติท่านอื่น

๔.      ไม่ต้องเก็บอาสนะ เพื่อความสะดวกในการนั่งครั้งต่อไป

๕.      ตารางการปฏิบัติธรรมนั้น สามารถยืดหยุ่นได้ตามความจําเป็นของแต่ละบุคคล แต่ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นก็ให้ปฏิบัติตามตารางนั้น ๆ

๖.      การสอบอารมณ์จะเริ่มในวันที่ ๒ ของการปฏิบัติเป็นต้นไป และจะสอบในช่วงเวลา ๑๗.๓๐ น. หากมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบ

๗.      เมื่อพระวิปัสสนาจารย์มาถึง ท่านจะกราบพระ ๓ หน ให้ผู้ปฏิบัติประนมมือนั่งรอ (อย่ากราบ ในขณะที่ท่านกําลังกราบพระอยู่) เมื่อท่านกราบเสร็จ และหันหน้ามาทางผู้ปฏิบัติธรรมเรียบร้อยแล้ว จึงกราบพระด้วยสติ ช้า ๆ พร้อมกัน ๓ ครั้ง

ผู้ปฏิบัติธรรมอาจถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ได้ตามอัธยาศัย ถ้าถือศีล ๘ ก็ไม่ควร ดื่มนม นมถั่วเหลือง กาแฟ และเครื่องดื่มที่เป็นอาหารอื่นๆ

TOP