การปฏิบัติตนหลังการปฏิบัติธรรม
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และต่อยอดจากการปฏิบัติธรรมที่วัด อันเป็นหนทางหนึ่งที่จะบำรุงรักษานักปฏิบัติให้ก้าวหน้าในเส้นทางสายนี้ และไม่ลืมรูปแบบการปฏิบัติ เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องบำรุงรักษา รดน้ำ พรวนดิน ให้เติบใหญ่ฉันนั้น และการปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ควรทำดังนี้
๑. สรุปหารูปแบบการปฏิบัติที่เหมาะสมกับตัวเราเอง และทบทวนอยู่เสมอ
๒. เมื่อทำงานหรือเข้าสังคมก็ให้ทำปกติ เพราะคนเราต้องหาเลี้ยงชีพ แต่ต้องไม่ทำผิดศีลธรรม
๓. การปล่อยวาง ไม่แข่งขันชิงดี ชิงเด่นเป็นภาวะปกติหลังการปฏิบัติธรรม อาจเข้าใจว่าไม่ กระตือรือร้น แท้จริงก็คือการยกระดับจิต และรู้จักประมาณตน ไม่โลภมากนั่นเอง
๔. ฝึกตนเองไปเรื่อย ๆ เช่น แทนที่ด้วยความฟุ้งซ่านจากการนั่งรถไปทำงาน ก็ให้สวดมนต์, แผ่เมตตาแทนที่ หรือลองมีสติระลึกรู้ลมหายใจเป็นช่วง ๆ เมื่อได้สติ เป็นต้น
๕. เมื่อจะทำสมาธิที่บ้าน ให้สมาทานศีลก่อนการปฏิบัติเป็นประจำ (กับองค์พระ)
๖. หาโอกาสทำสมาธิ – เดินจงกรม หรือสวดมนต์ด้วยได้ยิ่งดี ก่อนนอนทุกวัน และเพิ่มวันเวลาตามโอกาส
๗. หาโอกาสมาปฏิบัติเต็มคอร์สตามสถานปฏิบัติธรรม อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง
๘. การอ่านหนังสือธรรมะ, ฟังธรรมบรรยายทุกวัน จะช่วยให้จิตไม่ประมาท และรักษาอารมณ์ศรัทธาไม่ให้ตกได้